เตือนภัย เฝ้าระวัง โรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง
จากสถานการณ์ปัจจุบันโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง หรือ โรคใบด่างมันสำปะหลัง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส Sri Lankan Cassava Mosaic Virus (SLCMV) ได้สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรปลูกมันสำปะหลังในประเทศเวียดนามและกัมพูชาอย่างหนัก การแพร่ระบาดของโรคนี้ผ่านทางท่อนพันธุ์และแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นพาหะโรค ซึ่งขณะนี้ยังไม่มียาหรือสารเคมีชนิดใดป้องกันและรักษาโรคนี้ได้ จึงส่งผลให้บริเวณพรมแดนประเทศไทย ได้แก่ สุรินทร์ ศรีสะเกษ สระแก้ว และจังหวัดใกล้เคียง ต้องเผชิญภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าว ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อเกษตรกร และส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจจากมันสำปะหลังในอนาคต
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศแจ้งเตือนเกษตรกรให้เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์โรคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากพบมันสำปะหลังที่มีลักษณะอาการ คือ ใบด่างเหลือง ใบเสียรูปทรง มีขนาดเล็กลง และยอดที่แตกใหม่จะแสดงอาการด่างเหลืองรุนแรง ลำต้นแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโต ไม่มีการสร้างหัวมัน ผลผลิตลดลง 80 – 100 % นั่นคืออาการของโรคใบด่างมันสำปะหลัง
ถึงแม้ว่ากรมวิชาการเกษตรจะยืนยันว่ายังไม่พบการระบาดของโรคในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามเกษตรกรควรเฝ้าระวังการระบาดของโรค ดังนี้
• สำรวจพื้นที่ปลูกอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
• ใช้พันธุ์จากแหล่งที่ปลอดโรคหรือจากท่อนพันธุ์ที่ไม่แสดงอาการของโรค
• หลีกเลี่ยงการขนย้ายท่อนพันธุ์จากแหล่งที่พบอาการของโรคไปสู่แหล่งปลูกอื่น จนกว่าจะมีรายงานยืนยันว่าไม่พบโรค
• กำจัดหรือหลีกเลี่ยงการปลูกพืชอาศัยของโรค เช่น สบู่ดำ ละหุ่ง และพืชอาศัยของแมลงพาหะ เช่น กระเพรา โหระพา ผักชีฝรั่ง พริก มะเขือเปราะ มันฝรั่ง แตงกวา และพืชตระกูลถั่ว
• กำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ
• สอดส่องการลักลอบนำเข้าท่อนพันธุ์หรือส่วนขยายของมันสำปะหลังจากประเทศเวียดนาม กัมพูชา หรือพื้นที่ที่มีรายงานการระบาด ยกเว้นมันเส้นและมันสด หากพบเห็นขอให้แจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอทันที
หากพบต้นมันสำปะหลังมีอาการผิดปกติคล้ายเป็นโรคใบด่าง ขอให้ประสานส่วนราชการที่รับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงานเกษตรอำเภอ / สำนักงานเกษตรจังหวัด / สายด่วนเฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลัง โทร. 0 2579 8516 หรือ 061 415 2517 จากนั้น เจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตร จะเข้าสำรวจและเก็บตัวอย่าง ตรวจสอบยืนยันการเป็นโรค หากกรณียืนยันว่าเป็นโรคจะดำเนินการกำจัดต้นมันโดยการขุดถอนต้นที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงเท่านั้น
ถึงแม้ว่ากรมส่งเสริมการเกษตรจะมีมาตรการช่วยเหลือ หากเกิดความเสียหายจากโรคดังกล่าว โดยจะพิจารณาความช่วยเหลือ เช่น สนับสนุนท่อนพันธุ์หรือพันธุ์พืชทดแทน ศัตรูธรรมชาติหรือสารกำจัดแมลงพาหะ หรือปัจจัยอื่นๆ ตามความจำเป็น แต่อย่างไรก็ตามเกษตรกรควรเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้เกิดโรคใบด่างย่อมดีกว่า
สอบถามเพิ่มเติม : ฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล โทร. 081 658 8274 / 081 967 2288