EN TH

เครือ UBE ทำสัญญาซื้อสิทธิ์กับกรมวิชาการเกษตร

นางสาวสุรียส โควสุรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ ยูบีอี ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันสำปะหลังรายใหญ่ของประเทศไทย ในฐานะผู้แทนของบริษัท อุบลไบโอเกษตร จำกัด (อุบลไบโอเกษตร) บริษัทในเครือ ร่วมทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร กับ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร สำหรับสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิตามอนุสิทธิบัตร/สิทธิบัตร “สูตรและกรรมวิธีการผลิตปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์สำหรับอ้อยและมันสำปะหลัง” และ “สูตรและกรรมวิธีการผลิตปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์สำหรับข้าว” เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพ โดยได้รับเกียรติจาก ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเป็นสักขีพยาน งานดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

การทำสัญญาในครั้งนี้ เพื่อเป็นการขอรับเทคโนโลยีที่กรมวิชาการเกษตรเป็นเจ้าของสูตรและกรรมวิธีการผลิตปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ (Plant Growth Promoting Rhizobacteria : PGPR) ซึ่งเป็นปุ๋ยชีวภาพแบคทีเรียที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตด้วยการตรึงไนโตรเจนเพื่อเพิ่มประโยชน์ของธาตุอาหารพืช ขณะเดียวกันก็มีคุณสมบัติในการนำธาตุเหล็กบริเวณรอบรากพืชเข้าสู่เซลล์พืช และสร้างฮอร์โมนพืชเพื่อกระตุ้นการยึดตัวของเซลล์ การแบ่งเซลล์และการเปลี่ยนสภาพของเซลล์ รวมถึงสร้างเอนไซม์ชนิดที่สามารถย่อยเส้นใยเชื้อราโรคพืช สร้างสารปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อราสาเหตุโรคพืช ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ จึงถือเป็นปุ๋ยชีวภาพที่มีคุณภาพสูง ผ่านการวิจัยทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและแปลงทดลอง จนเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรว่าใช้ได้ผลจริง ทั้งในด้านการช่วยเพิ่มปริมาณราก การลดการใช้ปุ๋ยเคมี การช่วยเพิ่มผลผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดน้ำและปุ๋ย โดย อุบลไบโอเกษตร ได้ทำสัญญาใน 2 สูตร ประกอบด้วย ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทู สำหรับข้าว และ ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทรี 3 สำหรับอ้อยและมันสำปะหลัง เพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ ซึ่งบริษัทเชื่อมั่นว่า การดำเนินการดังกล่าว จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยในเรื่องของการผลิต กระจายสินค้า และการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ ให้เกษตรได้เข้าถึงปุ๋ยชีวภาพที่มีคุณภาพสูงได้อย่างสะดวก ในราคาที่เหมาะสม ช่วยเสริมความแข็งแกร่งในการปลูกมันสำปะหลัง และข้าว ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักสำคัญของประเทศให้มีประสิทธิภาพ และช่วยเกษตรกรลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตได้อย่างยั่งยืน