บทความพิเศษ “BCG ขับเคลื่อนมันสำปะหลังอินทรีย์ ยั่งยืนด้วยตลาดนำการผลิต”
“มันสำปะหลัง” พืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของประเทศ ซึ่งไทยถือเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังที่ครองอันดับหนึ่งของโลกมายาวนาน แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มันสำปะหลังของไทย ยังคงประสบปัญหาความไม่มีเสถียรภาพ ทั้งในด้านการขาดแคลนท่อนพันธุ์และคุณภาพของท่อนพันธุ์ รวมถึงวิธีการเพาะปลูกที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีผลผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ อย่างในช่วงนี้ที่เข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวของปี 2566 ซึ่งคาดว่าผลผลิตมันสำปะหลังของไทยจะลดลงเหลือ 31.7 ล้านตัน จากคาดการณ์เดิม 34.98 ล้านตัน (ที่มา : กรมการค้าต่างประเทศ) อันเนื่องจากความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ความผันผวนของสภาพอากาศ รวมถึงโรคศัตรูพืชต่างๆ ขณะที่ ความต้องการผลผลิตมันสำปะหลังยังมีแนวโน้มที่ดีจากความต้องการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพของตลาดโลก แล้วมันสำปะหลังไทยจะคว้าโอกาสนั้นมาครอบครองอย่างยั่งยืนได้อย่างไร?
การขับเคลื่อนมันสำปะหลังไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเทรนด์โลก ต้องเริ่มจากการบริหารจัดการห่วงโซ่เกษตรอินทรีย์ที่ครบวงจร ควบคู่กับโมเดลทางเศรษฐกิจใหม่ BCG Model ที่ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) คำตอบของความยั่งยืนและกลไกที่จะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย ที่ไม่ใช่เพียงการปลูกมันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการ แต่เป็นการต่อยอดไปสู่มันสำปะหลังอินทรีย์ที่มีการส่งเสริมกระบวนการปลูกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าและนำไปเป็นวัตถุดิบเพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง สร้างระบบการผลิตที่ยั่งยืน ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และการสร้างรายได้สูงให้เกษตรกร
ซึ่งหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมมันสำปะหลังอินทรีย์ไทย ตามแผนเศรษฐกิจใหม่ BCG Model คือ การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร โดยบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันสำปะหลังรายใหญ่ของประเทศ ในฐานะบริษัทเอกชนที่มีถิ่นฐานตั้งอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นหนึ่งในภาคเอกชนที่มุ่งมั่นผลักดันและส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ในพื้นที่อีสานตอนล่าง 2 มายาวนาน ภายใต้แนวทางการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน (Sustainable Supply Chain) ตั้งแต่การส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์อย่างครบวงจร ตามหลักการ “ตลาดนำการผลิต” ที่สร้างรายได้ที่มากกว่าให้เกษตกร นางสาว กัณฑ์พร กรรณสูต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายความยั่งยืนองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ UBE ให้ความเห็นต่อการพัฒนามันสำปะหลังอินทรีย์ไทยว่า “บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจแป้งมันสำปะหลังบนหลักการผลิตที่ยั่งยืน ที่ให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าการปลูกมันสำปะหลังให้เป็น “มันสำปะหลังอินทรีย์” ผ่านโครงการถ่ายทอดความรู้ และนำเทคโนโลยีมาช่วยเกษตรกรลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต โดยมีการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล ผลผลิตที่ได้ก็มีการประกันราคารับซื้อที่สูงขึ้น ด้วยการทำ Contract Farming ซึ่งบริษัทฯ ก็จะได้วัตถุดิบมันสำปะหลังอินทรีย์ที่มีคุณภาพไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่หลากหลาย โดยดำเนินโครงการเข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว ซึ่งในปีนี้ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าโครงการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ โดยมุ่งเป้าสำคัญคือการต่อยอดทั้งในด้านการขยายพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสำปะหลังอินทรีย์จาก 10,000 ไร่ เป็น 30,000 ไร่ การเดินหน้าบูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐ ทั้งในด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการเพาะปลูก การใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรเข้ามาช่วยลดต้นทุน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สอดคล้องกับหลักการตลาดนำการผลิต และเป็นการยกระดับการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์อย่างยั่งยืนให้เกษตรกร ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบและทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด โดยเพิ่มมูลค่าของเสียที่เกิดจากการผลิตต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์อินทรีย์วัตถุ ปัจจัยช่วยเพิ่มผลผลิตที่จะกลับไปสนับสนุนการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ให้เกษตรกร เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบยั่งยืนที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน”
ด้าน สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานี โดย นางโสภิตา สมคิด ผู้อำนวยการกลุ่มวิชาการ แสดงความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ให้ยั่งยืนว่า “การรักษาความแข็งแกร่งในการเป็นฐานการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ของประเทศ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร จำเป็นจะต้องช่วยกันนำปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต มาถอดบทเรียนและร่วมกันวางแนวทางที่เหมาะสม เนื่องจากในอนาคตข้างหน้า สถานการณ์ภาวะโลกร้อน และสภาพอากาศแปรปรวนจะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันเตรียมความพร้อมให้เกษตรกร ในการรับมือเพื่อป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นดังกล่าว ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมเพื่อการควบคุมมาตรฐาน การเตรียมดิน การใช้ท่อนพันธุ์ที่สดใหม่จากต้นที่สมบูรณ์ การปลูกในระยะห่างที่เหมาะสม มีการดูแลรักษาและการกำจัดศัตรูพืช และเก็บเกี่ยวในช่วงอายุที่เหมาะสมที่สุด คือ 10-12 เดือน เพื่อให้ได้เปอร์เซ็นต์แป้งสูง ขณะเดียวกัน เกษตรกรควรมีความรู้ในการเก็บรักษาท่อนพันธุ์ เพื่อให้มีท่อนพันธุ์ที่สะอาดปลอดโรคใบด่างมันสําปะหลัง มีคุณภาพ และมีจำนวนเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป เหล่านี้คือหลักการพื้นฐานในการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ให้ยั่งยืนได้”
ท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายการผลิตวัตถุดิบทางการเกษตร ยังมีเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ในจังหวัดอุบลราชธานี ที่ยังมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าในวิถีเกษตรอินทรีย์ต่อไป อย่าง นางอุไร กำแก้ว เกษตรกรต้นแบบของมันสำปะหลังอินทรีย์ เปิดเผยว่า “ตนปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์เข้าปีที่ 6 แล้ว ก่อนหน้านั้นตนมีปัญหาสุขภาพที่คิดว่าอาจจะมาจากสารเคมี จึงตัดสินใจหันมาปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ โดยเริ่มจาก 2 ไร่ ทำแล้วเห็นผลทั้งเรื่องสุขภาพ และผลผลิตได้ราคาดี จึงค่อยๆ ขยายจนเต็มพื้นที่ในปัจจุบันเกือบ 26 ไร่ การปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์อาจจะมีขั้นตอนที่ต้องทำความเข้าใจในช่วงแรก คือ การเตรียมท่อนพันธุ์ การเตรียมดิน การปรับปรุงพื้นที่ที่ถูกต้อง การเว้นระยะห่างระหว่างร่องที่เหมาะสมกับเครื่องจักรที่จะเข้าไปกำจัดวัชพืช แนวกันชนที่ต้องได้ตามมาตรฐาน ซึ่งเมื่อทำทุกอย่างถูกต้องในปีแรกๆ หลังจากนั้นก็ง่าย การกำจัดวัชพืชก็สามารถใช้เครื่องจักรที่เหมาะสมเข้าถึงได้สะดวก ไม่ต้องเสียค่าแรงคน ที่สำคัญผลผลิตยังมีราคาที่ดีกว่ามันสำปะหลังทั่วไป วิถีอินทรีย์ไม่เพียงทำให้ได้สุขภาพที่ดีกลับมา แต่ยังได้ประโยชน์มากมาย อย่างแนวกันชนซึ่งเป็นหญ้าเนเปียร์ก็เป็นอาหารปลอดภัยเลี้ยงสัตว์ได้ และแม้ปีนี้ที่ผลผลิตอาจไม่ได้ตามเป้าหมาย เพราะสภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน แต่ไม่ท้อ ก็ปรับตัวไปตามสถานการณ์ และมุ่งมั่นที่จะปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ต่อไปเพราะเห็นแล้วว่าได้ประโยชน์ที่มากกว่าหลายด้าน”
การขับเคลื่อนมันสำปะหลังอินทรีย์ของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนเป็นจริงได้ เพียงทุกฝ่ายต้องบูรณาการความร่วมมือระหว่างกัน โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต บนพื้นฐานการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่เกษตรอินทรีย์ที่ครบวงจร และเดินตามแนวทาง BCG Model ผู้ที่สนใจการทำมันสำปะหลังอินทรีย์สำหรับฤดูกาลใหม่ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดหรือรับคำแนะนำได้ที่ ฝ่ายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ บริษัท อุบลซันฟลาวเวอร์ จำกัด โทร. 089-962-6544