EN TH

อุบลไบโอ…แถลงข่าว ลุย! โมเดล “ออร์แกนิคไบโอฮับ” ปลดล็อคกับดักรายได้ปานกลาง คลัสเตอร์กลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่าง 2 สร้างตลาดชีวภาพ และอาหารปลอดภัย

กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล แถลงข่าวเปิดบ้านเชิญสื่อมวลชนร่วมอุดมการณ์ปลอดสารเคมีสร้างสรรค์ ออร์แกนิค ไบโอฮับ นำโดยนายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้เล่าถึงวิสัยทัศน์ และแรงบันดาลใจพร้อมประกาศ เป็นผู้นำหลักในการพัฒนาศักยภาพพื้นที่กลุ่มจังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอำนาจเจริญ) เพื่อยกระดับจากอุตสาหกรรมการเกษตรขั้นพื้นฐานเป็นเกษตรอินทรีย์อุตสาหกรรม ต่อยอดจุดแข็งและความเชี่ยวชาญกว่า 10 ปีในการเป็นผู้นำในการผลิตพลังงานทดแทน และการแปรรูปอาหารขั้นต้นจากมันสำปะหลัง โดยการจับมือเกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อยให้ร่วมผลักดันอีสานตอนล่าง 2 บ้านเฮาเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ประกอบด้วย 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future) และ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ (Biofuels and Bio chemicals) ซึ่งการผลิตสินค้าเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสูงประเภทนี้ จะช่วยยกระดับให้ทั้งซับพลายเชนสามารถหลุดพ้นการติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ให้มีรายได้สูง (High income) ตรงเป้าหมายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Economy Model ที่รัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้สู่เกษตรกรฐานราก แก้ไขปัญหาด้านทรัพยากร และการจัดการบนพื้นฐานความยั่งยืน โดยมุ่งหวังให้เกิดสิทธิประโยชน์ในการลงทุนใหม่ๆ ในภาคเกษตรอุตสาหกรรม การยกระดับเกษตรกรให้มีรายได้ดี มีวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงงานแปรรูปอย่างต่อเนื่อง มีระบบการขนส่งที่ทันสมัยยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสนามบินอุบลราชธานีสู่ความเป็นสากล การพัฒนาระบบขนส่งทางรถไฟ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการบูรณาการกับภาครัฐ ในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ ที่สามารถทำได้จริง สร้างรายได้ให้เกษตรสูงขึ้นจริง และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นจริง

ปัจจุบัน โรงงานในเครือกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอลทั้ง 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) บริษัท อุบลเกษตรพลังงาน จำกัด บริษัท อุบล ไบโอก๊าซ จำกัด บริษัท เอ็น พี ไบโอ เอนเนอร์ยี่ จำกัด นับได้ว่าเป็นโรงงานต้นแบบด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพขนาดใหญ่ และครบวงจรที่สุดในภาคอีสาน ดำเนินธุรกิจเริ่มแรกในปี 2551 ผลิตแป้งมันสำปะหลังที่เป็นส่วนประกอบของอาหาร และมีผลพลอยได้จากวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตสามารถนำไปผลิตเป็นไบโอก๊าซ เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนในกระบวนการผลิตได้ นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในโรงงาน และขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้อีกด้วย

ในปี 2555 โรงงานเริ่มผลิตเอทานอลบริสุทธิ์ 99.8 เปอร์เซ็นต์ เป็นพลังงานสะอาด เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนส่งจำหน่ายให้คนไทยทั่วประเทศ ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศมากกว่า 130 ล้านลิตรต่อปี ในปัจจุบัน บริษัทฯ มีความเติบโต และมีการปรับกลยุทธ์ให้ทันกระแสความต้องการของลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มคนที่รักสุขภาพ จึงได้ร่วมบูรณาการทั้งภาครัฐ และแหล่งงานวิจัย ทุ่มเท และทุ่มทุน รวมทั้งให้ความสำคัญ กับการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการอบรมให้กับชาวไร่มันสำปะหลัง ให้เปลี่ยนวิถีชีวิตการปลูกแบบใช้สารเคมี มาเป็นการปลูกแบบไร้สารเคมี เพื่อป้อนวัตถุดิบสู่ตลาดสากล โดยไม่มีสารที่ทำให้เกิดการแพ้ อาทิเช่น สารกลูเต้น เป็นต้น เป็นการสร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการมันสำปะหลังทั่วโลกได้เห็นว่า จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย คือแหล่งผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ที่ได้รับรองมาตรฐานสากล 100% ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล จำนวน 104 ราย พื้นที่มากกว่า 1,000 ไร่ ในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดยโสธร มีเครือข่ายเกษตรกรที่อยู่ในช่วงระยะปรับเปลี่ยนกว่า 15,000 ไร่ และในปี 2565 บริษัทฯ มีเป้าหมาย ที่จะส่งเสริมขยายพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ ให้ได้ 50,000 ไร่

ในปี 2560 ที่ผ่านมาบริษัทร่วมกับสมาคมการค้าอินทรีย์กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ในการขับเคลื่อนกลุ่มจังหวัดฯ ให้เป็นกลุ่มคลัสเตอร์เกษตรอินทรีย์ หรือ Organic Bio Hub ขยายผลจากโมเดลมันสำปะหลังอินทรีย์ สู่พืชอื่นๆ สร้างโอกาสทางการตลาด และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร โดยรวบรวมสมาชิกผู้ประกอบการที่แปรรูป และเกษตรกรคนพันธุ์อินทรีย์ที่สามารถผลิตข้าว มันสำปะหลัง ผักผลไม้ และพืชสมุนไพร พร้อมทั้งได้รับมาตรฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์ในระดับสากลได้แก่ (1) มาตรฐาน มกษ 9000-2552 หรือ Organic Thailand (2) มาตรฐานอินทรีย์ USDA - NOP (สหรัฐอเมริกา) (3) มาตรฐานอินทรีย์กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปหรือ EU (4) มาตรฐานอินทรีย์ JAS (ญี่ปุ่น) (5) มาตรฐานอินทรีย์ Korean (เกาหลี) (6) มาตรฐานอินทรีย์ China (จีน) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ที่ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทย และสากล จำนวน 1118 ราย และในปี 2563 ทางบริษัทฯ และสมาคมฯ จะร่วมกันปรับ เปลี่ยน ปั้นเกษตรกร และผู้แปรรูปให้สามารถผลิตสินค้าคุณภาพสูง เป็น Product Champion เพื่อนำร่องในการร่วมเดินทางไปจำหน่ายผลิตภัณ์อินทรีย์ พร้อมๆ กับแป้งมันสำปะหลังออร์แกนิคในตลาดโลก

โมเดล Organic Bio Hub เป็นการรวมตัวของกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็งกับผู้ประกอบการรายใหญ่ และรายย่อยที่จะร่วมสร้างพื้นที่กลุ่มจังหวัดฯ ให้เป็นเกษตรอินทรีย์อุตสาหกรรม โดยนายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “วันนี้ ในเรื่องของเกษตรอินทรีย์ บริษัทฯ ได้ทำการบ้านจากลูกค้าและศึกษาอย่างจริงจัง ปัจจุบันโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก วันต่อวัน วินาทีต่อวินาที การปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งจำเป็น ที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอด และเกษตรกรอยู่รอด เพราะเกษตรกร คือห่วงโซ่สำคัญเป็นอันดับแรก และในจังหวัดอุบลราชธานีมีจุดแข็งในด้านของพื้นที่เหมาะกับการทำเกษตร ปลูกข้าวอินทรีย์ มันสำปะหลังอินทรีย์ ผักผลไม้อินทรีย์ รวมถึงในอนาคต จะมี เนื้ออินทรีย์ หมูอินทรีย์ หมูยออินทรีย์ ก็สามารถส่งเสริมยกระดับจากเกษตรขั้นพื้นฐาน (หมายถึง การการผลิตสินค้าคงรูปเดิมๆ เพื่อจำหน่ายเท่านั้น) สู่เกษตรอุตสาหกรรมแปรรูป และพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เป็นเกษตรอินทรีย์อุตสาหกรรม โดยการเปลี่ยนรูปสินค้าเดิม หรือการรวมสินค้าเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ได้ เช่น สีผสมอาหารสมุนไพรอินทรีย์ หมูยออินทรีย์ เครื่องแต่งกายอินทรีย์ เป็นต้น นอกจากนี้ ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีทำเลที่ตั้งอยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ถือว่ามีความได้เปรียบในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี โดยเฉพาะการท่องเที่ยววิถีเกษตรอินทรีย์ พักในโรงแรมอินทรีย์ ที่รวบรวมเอาผลิตภัณฑ์อินทรีย์ มาทำธุรกิจโรงแรมอินทรีย์ ซึ่งจะเป็นเทรนด์ใหม่ของนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ”

“วันนี้เรามาทำธุรกิจในจังหวัดอุบลราชธานี เราได้เห็นคนอุบล และคนอีสานย้ายถิ่นฐานกลับมาช่วยพัฒนาบ้านเกิด ผมมองว่ากลุ่มจังหวัดฯ อีสานล่าง 2 ของเรามีศักยภาพ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดโลก จึงควรใช้โอกาสนี้รวมกลุ่มกันเป็นคลัสเตอร์เกษตรอินทรีย์อุตสาหกรรม ซึ่งทำได้ไม่ยาก ให้กลายเป็น Ecosystem ในกลุ่มจังหวัดฯ ของเรา ที่จะทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น สำหรับภาพรวมในอีก 5 ปีข้างหน้า ทางบริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น เอทานอล จะตอบสนองนโยบายรัฐบาล ในการกำหนดให้น้ำมัน E20 เป็นน้ำมันขั้นพื้นฐาน จะทำให้ปริมาณการใช้เอทานอลภายในประเทศสูงขึ้น หรือการจำหน่ายเอทานอล ในเกรดอุตสาหกรรมในธุรกิจด้านเวชสำอางค์ เป็นต้น จะทำให้ทางบริษัทฯ สามารถขยายกำลังการผลิตเอทานอลได้ในอนาคต การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากแป้งมันสำปะหลังที่มีมูลค่าสูงไม่ว่าจะเป็น สาคูออร์แกนิค สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ฯลฯ อีกมากมาย รวมทั้ง การสร้างธุรกิจใหม่ๆโดยมุ่งเน้น การทำ Organic product ที่หลากหลายตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้รักสุขภาพในตลาดโลก นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังมีแผนการผลิตแก๊สชีวภาพจากวัสดุของเหลือใช้ และหญ้าเนเปียร์ เพื่อนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในโรงงาน ลดค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทฯ และส่งขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสร้างรายได้ที่มั่นคง และสามารถแบ่งปันให้ชุมชนที่อยู่โดยรอบโรงงาน อย่างยั่งยืนอีกด้วย

สุดท้าย การที่กระผม และทุกๆ ท่าน อยากจะเห็นจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียงโดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดยโสธร และจังหวัดอำนาจเจริญ) รวมกันเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นกลุ่มคลัสเตอร์เกษตรอินทรีย์อุตสาหกรรม อยากจะเห็นการยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องกลุ่มจังหวัดฯ ให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าทางบริษัท จะพัฒนาโดยลำพังแต่เพียงผู้เดียว จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการ ทั้งจากภาครัฐ มหาวิทยาลัย หน่วยงานท้องถิ่น ผู้นำชุมชน พี่น้องเกษตรกร รวมทั้ง ชุมชนที่อยู่โดยรอบโรงงาน ช่วยกันผลักดัน และขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ใหสามารถปฏิบัติได้จริง มีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต จากการใช้สารเคมีมาเป็นวิถีชีวิตอินทรีย์ พัฒนาสู่ ECO System ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมีการซื้อขาย การแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีคุณภาพ มีการขยายไปสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และวิถีอีสานอินทรีย์ สร้างระบบของสัมมาอาชีพที่ไว้ให้กับลูกหลานของเราได้อย่างยั่งยืน นี่คือภาพรวมที่บริษัทฯ ของเราจะมุ่งทำให้สำเร็จต่อไป”