EN TH

“มันอินทรีย์” ไบโอ...ตอบโจทย์รัฐ ขยายต้นแบบมันอินทรีย์สู่ 15 อำเภอ ให้ได้ 50,000 ไร่ ในปี 2565 ยกระดับ “อุบลราชธานีแห่งเกษตรอินทรีย์” สู่ออร์แกนิคสากล

วันที่ 27 ก.พ.62 นายอนันต์ ปรีชาวุฒิวงศ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดงานวันสาธิตการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ “4 ดี : สุขภาพดี ผลผลิตดี ระบบนิเวศดี รายได้ดี” ชูหลักตลาดนำการผลิตเกษตรอินทรีย์ พร้อมสร้างฐานสาธิตเชิงปฏิบัติการแบบบูรณาการ รวมพลวิทยากรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรต้นแบบ ครบทีมติวเข้ม ประกอบด้วย สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี กรมส่งเสริมการเกษตร / สำนักงานวิจัยพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 ศูนย์วิจัยพืชไร่ ศูนย์วิจัยวิศวกรรมขอนแก่น กรมวิชาการเกษตร / สถานีพัฒนาที่ดินอุบลราชธานี กรมพัฒนาที่ดิน / สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี / เกษตรกรต้นแบบรุ่น1-2 และกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ให้กับหัวหน้ากลุ่มเกษตรกรจำนวน 400 ราย ตัวแทนจาก 15 อำเภอในจังหวัดอุบลราชธานี ณ สนามกีฬา กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ต.นาดี อ.นาเยีย จ.อุบลราชธานี

การอบรมสาธิตมันอินทรีย์ในปีนี้ จัดทั้งหมด 10 ครั้งในพื้นที่ขยายจุดรับซื้อมันอินทรีย์ นำร่องครั้งแรกบุกโรงแป้งมันแปรรูปมันอินทรีย์ปฐมฤกษ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกร ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ เกษตรกรจะได้รับการอบรมผ่านฐานการเรียนรู้ทั้งหมด 8 ฐาน ดังนี้

ฐานที่ 1 รู้ดิน โดย สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี

ฐานที่ 2 รู้ปุ๋ย โดย สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4

ฐานที่ 3 รู้พันธุ์ โดย ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี

ฐานที่ 4 การจัดการแปลงในระบบอินทรีย์ โดย สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 และกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล

ฐานที่ 5 อารักขาพืช โดย สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี

ฐานที่ 6 เครื่องจักรกลการเกษตร โดย ศูนย์วิจัยวิศวกรรมขอนแก่น

ฐานที่ 7 สุขภาพคนมันอินทรีย์ โดย สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี

ฐานที่ 8 เทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ โดย กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล

การยกระดับเกษตรกรไม่เพียงแต่งดสารเคมี แต่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องทำความเข้าใจกับคำว่า “อินทรีย์” ไม่ใช่แค่ความสะอาด ไม่ใช้สารเคมี หรือมกระบวนการมาจากธรรมชาติเท่านั้น จะทำเกษตรอินทรีย์อย่างไรให้ขายได้เป็นราคา ยกระดับสู่สากลได้ ต้องคำนึงถึงความหมายของอินทรีย์ให้ลึกซึ้ง กล่าวคือ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันสำปะหลังอินทรีย์ ต้องผ่านกระบวนการควบคุมคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนสามารถได้เอกสารรับรองทุกมาตรฐานที่ลูกค้าต้องการ ได้แก่ (1) มาตรฐานอินทรีย์ไทยแลนด์ มกษ 9000-2552 (THAILAND ORGANIC) (2) มาตรฐานอินทรีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา(USDA-NOP) (3) มาตรฐานอินทรีย์ กลุ่มประเทศยุโรป (EU ORGANIC) (4) มาตรฐานอินทรีย์ ประเทศญี่ปุ่น (JAPANESE AGRICULTURAL ORGANIC STANDARD;JAS) (5) มาตรฐานอินทรีย์ ประเทศเกาหลี (KOREAN ORGANIC STANDARD) และ (6) มาตรฐานอินทรีย์ ประเทศจีน (CHINA ORGANIC) ซึ่งทุกมาตรฐานผ่านได้ถ้าเกษตรกรมีความตั้งใจ ซื่อสัตย์ ทางการตลาดก็พร้อมที่จะพาเกษตรกรไปสู่มาตรฐานสากล เข้าประเด็น WIN-WIN ปลูกได้ดีมีคุณภาพ ขายของได้มีคุณภาพเช่นกัน ซึ่งขอบอกว่างานดีไม่มีค่าใช้จ่าย ขอแค่มีเวลาและความตั้งใจจริง

กิจกรรมในครั้งนี้จัดเพื่อมุ่งเน้นให้เกษตรกรหันมาปรับเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีในแปลงมัน มาสู่การทำอินทรีย์ แม้ว่าจะขับเคลื่อนตามนโยบายภาครัฐ แต่สุดท้ายความยั่งยืนเกิดจากการทำอย่างจริงจังในพื้นที่ มีคนปลูกก็ต้องมีคนซื้อ มีคนผลิตก็ต้องมีคนสนับสนุน จะเห็นว่าปีนี้ก้าวเข้าสู่การขยายพื้นที่ แสดงผลถึงการทำได้จริงในพื้นที่ต้นแบบนำร่องตั้งแต่ปี 2558 เริ่มที่ 4 อำเภอ คือ อ.นาเยีย อ.สว่างวีระวงศ์ อ.วารินชำราบ และอ.พิบูลมังสาหาร ขยายผลได้ไปถึงรวมกันเป็น 15 อำเภอ ได้แก่ อ.โขงเจียม อ.ศรีเมืองใหม่ อ.สิรินธร อ.ตระการพืชผล อ.ดอนมดแดง อ.ตาลสุม อ.โพธิ์ไทร อ.เขมราฐ อ.กุดข้าวปุ้น อ.นาตาล อ.เหล่าเสือโก๊ก ซึ่งในระหว่างวันที่ 4 – 8 มีนาคม 2562 นี้ทางโครงการฯ มีการขยายผลอบรมให้ทั่วถึง พร้อมยกระดับเกษตรกรให้ได้ 50,000 ไร่ภายในปี 2565 นี้