ประโยชน์ของมันสำปะหลัง
มันสำปะหลังเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ถึงกับได้รับฉายาว่า “พืชของขวัญ” ของเกษตรกรไทย เนื่องเพราะเป็นพืชที่ปลูกง่ายมีปัญหาในการผลิตน้อย ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากประเทศไนจีเนียและบราซิล แต่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับหนึ่งของโลกมาอย่างยาวนาน สร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่าปีละ 5 หมื่นล้านบาท
โดยที่ประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่นำมันสําปะหลังมาผลิตเป็นแป้งมากที่สุด และถือได้ว่าเป็นผู้ผลิตแป้งมันสําปะหลังรายใหญ่ที่สุดของโลก ปัจจุบันมีโรงแป้งทั้งหมด 90 โรงทั่วประเทศ เปิดดำเนินการมามากกว่า 40 ปี ซึ่งแป้งมันสำปะหลังถูกนำไปใช้บริโภค และใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ดังนี้
ใช้เป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมอาหารในครัวเรือน/Household and Restarant
แป้งมันสำปะหลังมีคุณสมบัติทำให้อาหารเหนียว และสร้างลักษณะเงาวาวให้กับเนื้ออาหาร เมื่อผสมน้ำและให้ความร้อนจะเหนียวจนเป็นกาวใส หรืออาจเรียกได้ว่า ขาวใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส เหมาะสมมากเมื่อนำมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะในอาหารจะไม่มีกลิ่นหรือรสแปลกปลอม อาทิเช่น
• อาหาร - เช่น ราดหน้า กระเพาะปลา ผสมแป้งมันสำปะหลังเพื่อให้น้ำมีความเหนียวหนืด
• ขนมและของหวาน - เช่น ทับทิมกรอบ เต้าส่วน ผสมเพื่อให้เกิดความเหนียวหนืดและใส ส่วนขนมชั้น ขนมกล้วย และขนมฟักทอง ขนมกุยช่าย จะใช้แป้งมันสำปะหลังผสมกับแป้งชนิดอื่นๆ เพื่อให้เกิดความเหนียวนุ่ม
เส้นก๋วยเตี๋ยว/Noodle
ช่วยเพิ่มความเหนียวและยืดหยุ่น ทำให้ไม่ขาดง่าย และทำให้เส้นมีความเงาเพิ่มความน่ารับประทาน
ผลิตภัณฑ์แป้งชุบทอด/ Deep-Fried Flour
ช่วยเพิ่มความกรอบและควบคุมการพองตัวได้ดี
น้ำส้มสายชู/Vinegar
เป็นกรดอะซิติกที่ได้จากการหมักสารละลายแอลกอฮอล์ซึ่งทำมาจากมันสำปะหลังโดยใช้ แบคทีเรีย Acetobactor เป็นตัวเปลี่ยนแอลกอฮอล์ให้กลายเป็น กรดอะซิติกแล้วนำกรดที่ได้ไปเจือจางด้วยน้ำให้ได้มาตรฐานที่ มอก. กำหนดจะได้น้ำส้มสายชูซึ่งนำไปใช้ประกอบอาหารในครัวเรือน
ปลาเส้น/Fish Snack
ใช้แป้งมันสำปะหลังเป็นส่วนประกอบในการขึ้นรูป และทำให้ส่วนประกอบอื่นๆ ผสมผสานเข้าเนื้อปลาได้ดี จะเห็นได้ว่าใช้เป็นส่วนประกอบหลักรองจากเนื้อปลา
อาหารแช่แข็ง/Frozen Food
ช่วยรักษาความคงตัวแม้ผ่านการแช่แข็งเป็นเวลานาน หลังจากละลายแล้ว ลักษณะยังเหมือนเดิมเกิดความคงตัว อาทิเช่น ติ่มซำแช่แข็ง
ซอสปรุงรสและซุป/Seasoning Sauce and Soup
แป้งมันสำปะหลังมีคุณสมบัติในการช่วยเพิ่มความข้นหนืดให้กับผลิตภัณฑ์ ในซอสจะมีแป้งดัดแปรพวก แป้งออกซิไดซ์, แป้งพรีเจลลาติไนซ์, แป้งคลอสลิง เป็นตัวเพิ่มความข้นและทำให้เป็นรูปร่าง ส่วนในมายองเนสจะมีแป้งฟอสเฟตโมโสเอสเทอร์เป็นสารอิมัลซิฟายเออร์ ซึ่งช่วยให้น้ำรวมตัวกันเป็นน้ำมันได้
ผงชูรส/ Monosodium glutamate
ผงชูรสที่ใช้ในการปรุงอาหารมีชื่อทางเคมี คือ โมโนโซเดียมกลูตาเมท ปริมาณการนำแป้งมันสำปะหลังมาใช้ในอุตสาหกรรมผงชูรสสูงถึงประมาณร้อยละ 20 ของปริมาณแป้งมันที่ผลิตได้ทั้งหมด ขั้นตอนการผลิตคือ ใช้แป้ง หรือกากน้ำตาลที่เรียกว่า โมลาส จากโรงงานน้ำตาล หรือทั้งสองอย่างมาผสมกัน หลังจากนั้น ก็เปลี่ยนย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาลกลูโคส แล้วหมักและใส่จุลินทรีย์ เพื่อเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสเป็นกรดกลูตามิค หลังจากหมักได้ที่ นำไปทำปฏิกิริยากับโซดาไฟจะได้โมโนโซเดียมกลูตาเมต แล้วทำให้ตกผลึกซึ่งเราเรียกกันว่า ผงชูรส
สาคู/Sago
สาคูผลิตจากการเอาแป้งมาขึ้นรูป โดยใช้เครื่องจักรในการเขย่าให้จับกันเป็นก้อน พร้อมผ่านการคั่วและอบแป้งจึงทำให้เป็นเม็ดๆ เรียกว่าเม็ดสาคู
ไข่มุก/Tapioca Pearl
ผลิตจากการนำแป้งมันสำปะหลังมาทำให้ชื้น แล้วนำตะแกรงมาล่อน จนกลายเป็นเม็ดสาคูสีดำ แป้งมันสำปะหลังจะมีส่วนช่วยให้ไข่มุกเหนียวหนึบ
ลูกกวาด, ช็อคโกแลต/Confectionary
สารให้ความหวานพวกกลูโคสหรือฟรักโทสซึ่งผลิตจากแป้งมันสำปะหลังผสมอยู่ ช่วยทำให้มีรสหวานและทำให้กลิ่นรสของผลิตภัณฑ์ดีขึ้น และมีแป้งดัดแปรพวก แป้งไฮดรอกซีเอทธิล แป้งเดกซ์ทริน แป้งแปรรูปประเภท hydroxyl propylated starch เพื่อให้ลูกกวาดมีความแข็ง
ผลไม้กระป๋อง, แยม/Canned fruit, jam
มีสารให้ความหวานพวกฟรักโทสหรือกลูโคสซึ่งผลิตจากแป้งมันสำปะหลังผสมอยู่ ทำให้ความหวาน สี รส และเนื้อสัมผัสดีขึ้น และกรดซิตริกซึ่งทำจากแป้งมันสำปะหลังเป็นตัวปรับรสชาติและรักษาอาหาร
เครื่องดื่ม/Beverages
มีสารให้ความหวานพวกกลูโคสและฟรักโทสเป็นส่วนผสมอยู่ ทำให้ผู้บริโภครู้สึกสดชื่นเมื่อดื่มเครื่องดื่มและ ช่วยเพิ่มกลิ่นรสของผลไม้ อีกทั้งมี กรดซิตริกเป็นตัวปรับรสชาติและรักษาอาหาร
ครีมเทียม/Artificial Cremer
แป้งมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบผลิตสารให้ความหวานพวกมอลโตเดกซ์ตริน ซึ่งเป็นตัวเพิ่มปริมาตรและช่วยในการละลายในครีมเทียม
มีสารให้ความหวานพวกกลูโคสหรือฟรักโทสซึ่งผลิตจากแป้งมันสำปะหลังผสมอยู่และมีแป้งดัดแปรประเภทกัม(GUM) เป็นตัวทำคงสภาพโดยไม่คืนตัว
มันสำปะหลัง เมื่อนำไปแปรรูปแล้วสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย จากตัวอย่างที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นเพียงการนำแป้งที่ผลิตจากมันสำปะหลังไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับอาหาร ซึ่งมันสำปะหลังยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในส่วนต่างๆ ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล เป็นต้น เพราะฉะนั้นการที่มันสำปะหลังถูกขนานนามว่า “พืชของขวัญ” ก็คงไม่ผิดไกลนัก