Biogas พลังงานรักษ์สิ่งแวดล้อม

ก๊าซชีวภาพ (BIOGAS) ถือได้ว่าเป็นเชื้อเพลิงสะอาด (CLEAN FUEL) ไม่มีการปลดปล่อยก๊าซที่ได้จากการเผาไหม้ (ZERO EMISSION) ในขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการเกษตรมากมาย จึงมีวัตถุดิบที่สามารถนำมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพได้ เช่น เศษพืชจากไร่นาและสวน เศษเหลือจากฟาร์มปศุสัตว์ รวมถึงมูลสัตว์ น้ำเสียและกากจากโรงงานแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร หากได้มีการพิจารณานำเศษต่างๆดังกล่าวมาพัฒนาเป็นก๊าซชีวภาพ ก็สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยาก สามารถดำเนินการได้ในระดับชุมชน เป็นการเพิ่มรายได้ให้ชุมชนอีกทางหนึ่ง เพราะผลพลอยได้ที่ได้จากกระบวนการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุเหล่านี้อาจมีมูลค่ามากกว่าไฟฟ้าคือปุ๋ยอินทรีย์ และผลที่ได้รับที่มีมูลค่ามหาศาลคือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้จากการย่อยสลายของของเสียเหล่านี้เช่นกัน ตามแผนและนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ต้องหาพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะต้องมีพลังงานทดแทนให้ได้ถึง 25% โดยใช้พลังงานทดแทนเพื่อการผลิตไฟฟ้าให้ได้จำนวนเกือบ 10,000 เมกะวัตต์ โดยมีที่มาจากหลากหลาย เช่น แสงอาทิตย์ ลม คลื่น ความร้อนใต้พิภพ น้ำ และชีวภาพ ในจำนวนนี้คาดว่าจะได้จากก๊าซชีวภาพจำนวประมาณ8001,000 เมกะวัตต์ และยังได้กำหนดเป้าหมายย่อยๆ จากแหล่งผลิตในแต่ละภาคส่วน เช่น จากภาคอุตสาหกรรม (WASTE WATER & DECANTER) ประมาณ 230 เมกะวัตต์ (จากข้อมูลปัจจุบันที่มีกำลังการผลิต 156.56 เมกะวัตต์) หวังที่จะได้จากภาคปศุสัตว์ (WASTE WATER & MANURE) ประมาณ 10 เมกะวัตต์ และจากภาคเกษตรกรรม (AGRICULTURAL WASTE &ENERGY CROPS) อีกประมาณ 760 เมกะวัตต์ ตัวอย่างของของเสียจากภาคอุตสาหกรรมเกษตรที่เป็นแหล่งผลิตก๊าซชีวภาพ เช่น อุตสาหกรรมผลิตแป้งมัน มีของเสียคือน้ำเสียและกากมัน อุตสาหกรรมผลิตน้ำมันปาล์มมีน้ำเสียและกากตะกอน อุตสาหกรรมผลิตเอทานอล มีน้ำเสีย มันเส้น โมลาสและกากมัน สำหรับภาคปศุสัตว์ที่น่าจะเป็นต้นแบบการผลิตไฟฟ้า คือฟาร์มเลี้ยงสุกร ที่มีฟาร์มเลี้ยงขนาดกลางและใหญ่อยู่ในหลายพื้นที่ มีการประมาณการจากฟาร์มสุกรที่มีอยู่ประมาณ 176 ฟาร์ม ที่มีสุกรเลี้ยงอยู่ประมาณ 3 ล้านตัว น้ำเสียและมูลสุกรจากฟาร์มดังกล่าวสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 10 เมกะวัตต์ ส่วนของภาคเกษตรกรรมการปลูกพืชที่นำมาผลิตโดยตรงและเศษพืชหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งมีศักยภาพสูงมาก เช่น ฟางข้าว ต้นและซังข้าวโพด ต้นข้าวฟ่าง ต้นหญ้าและวัชพืชต่างๆทั้งวัชพืชบนบก และวัชพืชน้ำเช่นผักตบชวาและธูปฤษี เป็นต้น เศษกิ่งไม้ที่ตัดแต่งในสวน ใบและทางปาล์มน้ำมัน ฯลฯ เศษต่างๆเหล่านี้หากนำมาพัฒนาเป็นก๊าซชีวภาพ คงจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่า 760 เมกะวัตต์ ตามเป้าหมาย และทางออกอีกแนวทางหนึ่งที่คิดว่ามีโอกาสขยายผลได้รวดเร็วคือ การผลิตก๊าซชีวภาพชุมชน ที่นำมาผลิตไฟฟ้าขนาด 500-1,000 กิโลวัตต์ หากเป็นเช่นนี้ความยั่งยืนด้านพลังงานที่เดินไปพร้อมกับการรักษ์สิ่งแวดล้อมก็จะเกิดขึ้นในประเทศไทยครับ

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ, บทความโดย รศ.ดร.สมบัติ ชิณะวงศ์