รมว.เกษตรฯ ลงแปลงมันสำปะหลังอินทรีย์....ชื่นชมการตลาดนำการผลิต โรงงานแป้งมันอุบลเกษตรพลังงานสร้างทางเลือกใหม่ ให้เกษตรกรไทยยั่งยืน

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดงานใหญ่รวมพลเกษตรอินทรีย์ 4 จังหวัดราชธานีเจริญ- ศรีโสธร พร้อมวิ่งตรงลงแปลงมันสำปะหลังอินทรีย์ต้นแบบ ชื่นชมหลักการตลาดนำการผลิตพบปะผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปแป้งมันออร์แกนิคแห่งแรกของประเทศไทย มุ่งหวังมันสำปะหลังอินทรีย์สร้างรายได้สูงให้เกษตรกร พัฒนาคุณภาพการผลิต พร้อมขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ตามยุทธศาสตร์ชาติ

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม 2561 เวลา 11.00 น. นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พร้อมหัวหน้าส่วนราชการจากกระทรวงเกษตรฯ และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ประกอบด้วยจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และอำนาจเจริญ ลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงต้นแบบมันสำปะหลังอินทรีย์ นายชุมพล เวชสิทธิ์ บ้านหนองแปน ต.นาดี อ.นาเยีย จ.อุบลราชธานี พบปะเกษตรกรต้นแบบมันอินทรีย์ 100 คน จาก 4 อำเภอรอบโรงงานได้แก่ อ.นาเยีย อ.สว่างวีระวงศ์ อ.พิบูลมังสาหาร และอ.วารินชำราบ และเข้าเยี่ยมชมโรงแป้งมันอุบลเกษตรพลังงาน บริษัทในเครือกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล โดยมีนายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ

     “มันสำปะหลังอินทรีย์” ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงของโรงแป้งมัน บริษัท อุบลเกษตรพลังงาน จำกัด เริ่มสร้างเกษตรกรต้นแบบมันฯอินทรีย์เมื่อปี 2558 เพื่อเตรียมความพร้อมในการผลิตแป้งมันออร์แกนิคสู่ความต้องการมหาศาลของตลาดทั้งในและต่างประเทศ การเตรียมความพร้อมเกษตรกร บริษัทฯ ได้ดำเนินการแบบประชารัฐ ภายใต้โครงการอุบลโมเดล คือ การบูรณาการความรู้ ความร่วมมือระหว่าง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 กรมวิชาการเกษตร / สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 4 สถานีพัฒนาที่ดินอุบลราชธานี กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานเกษตรจังหวัด กรมส่งเสริมการเกษตร และเพิ่มเติมหน่วยงานบูรณาการปี 2560 คือการทำงานภายใต้องค์ความรู้จากงานวิจัยโดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภายใต้ชื่อโครงการ “การพัฒนาระบบการผลิตแป้งมันสำปะหลังอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่การผลิตของเกษตรกรในจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อเพิ่มศักยภาพการเป็นศูนย์กลางเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน” ประโยชน์สูงสุดของการทำงานแบบประชารัฐนี้ คือ ความยั่งยืนของเกษตรกรที่ปลูกมันฯ โดยใช้องค์ความรู้เป็นฐานสำคัญควบคู่กับความเข้าใจในระบบการตลาด ยกเลิกความคิดการปลูกวิถีเดิมๆ มุ่งเน้นการเรียนรู้แบบทดลอง ทดสอบด้วยตัวเอง มีการแลกเปลี่ยนระหว่างเกษตรกรต่างอำเภอที่มาร่วมอบรม และได้รับคำแนะนำจากภาครัฐและเอกชนอย่างใกล้ชิด เป็นมุมสะท้อนถึงการทำงานที่ครบองค์ประกอบในเรื่องการตลาดนำ การผลิต ผลิตเท่าไหร่ ผลิตอย่างไร และผลิตแล้วขายใคร ทั้งสามมิติต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำได้มาเจอกันเพื่อเป้าหมายร่วมกันคือ “ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต”

    นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้ประกอบการแป้งออร์แกนิคแห่งแรกของประเทศไทย กล่าวว่า “ปัจจุบันความต้องการแป้งมันออร์แกนิคมีความต้องการสูงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะกระแสของผู้บริโภคใส่ใจในเรื่องสุขภาพมากขึ้น ผู้บริโภคก่อนตัดสินใจซื้อมีการศึกษารายละเอียด ให้ความสำคัญถึงที่มาของผลิตภัณฑ์ แป้งมันออร์แกนิคเป็นส่วนผสมสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารออร์แกนิคสมบูรณ์ และขายได้มูลค่าสูงขึ้น อีกประเด็นที่สำคัญคือจาก 10 ปีที่ผ่านมาจะเห็นข่าวว่าเด็กรุ่นใหม่แพ้สารกลูเตนมากขึ้น แต่แป้งมันสำปะหลังไม่มีสารกลูเตน และไม่มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมพืช เพราะใช้ท่อนพันธุ์ในการเพาะปลูก จึงเป็นความต้องการของตลาดมากขึ้นด้วย ในส่วนของบริษัทฯ ได้มีการดูแลไปถึงต้นน้ำคือเกษตรกร เพื่อควบคุมการผลิตให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล จัดอบรมให้เกษตรกรโดยใช้กระบวนการที่เรียกว่าอุบลโมเดล มีการให้ความรู้โดยร่วมกับภาครัฐประจำทุกปี เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของเกษตรกรหลังจากอบรมคือ มีระบบคิดใหม่ๆ ในการจัดการแปลง ผลผลิตสูงขึ้นจาก 3 ตันเป็น 8 – 10 ตันต่อไร่ ซึ่งการให้ความรู้จะนำไปสู่ความยั่งยืนจริงๆ นอกจากดูแลต้นน้ำแล้วการดูแลตลาดให้มีความเชื่อมั่นก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องควบคู่กันไป ต้องมีการส่งสินค้าต่อเนื่องที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานอาหารปลอดภัย มีการพัฒนาแผนธุรกิจที่ทันโลกทันเหตุการณ์ เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทยต่อไปครับ”

    ปัจจุบัน เกษตรกรต้นแบบมันสำปะหลังอินทรีย์ที่เข้าร่วมโครงการกับทางบริษัทฯ ทั้งหมด 4 อำเภอ รอบโรงงานคือ อ.นาเยีย อ.สว่างวีระวงศ์ อ.พิบูลมังสาหาร และอ.วารินชำราบ และในปี 2561 ได้ขยายพื้นที่ อีก 5 อำเภอได้แก่ อ.สิรินธร อ.โขงเจียม อ.ตาลสุม อ.ตระการพืชผล และ และจ.ยโสธร ที่ต.กระจาย และ ต.โคกนาโก อ.ป่าติ้ว โดยแต่ละพื้นที่จะมีลานมันของ บริษัทฯ รับซื้อโดยตรง มีการประกันราคามันที่แน่นอนเฉพาะ 4 อำเภอรอบโรงงาน 3.00 บาท (25%แป้ง) และต่างอำเภอจะเป็นไปตามระยะทางการขนส่งประกันราคาที่ 2.90 บาท ซึ่งต้องผ่านมาตรฐานการรับรองที่ตลาดกำหนด ปัจจุบันมีเกษตรเข้าร่วม 275 ราย รวมพื้นที่ 1,751 ไร่ ซึ่งยังต้องเร่งส่งเสริมปรับเปลี่ยนพื้นที่จากมันเคมีให้เป็นมันอินทรีย์ให้ได้ตามเป้าหมาย 20,000 ไร่ในปี 2564 โดยทางบริษัทฯ มีข้อเสนอแนวทางในการผลักดันระบบอินทรีย์ให้เกิดความเชื่อมั่นในตลาด โดยเสนอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันผลักดันพื้นที่มันสำปะหลังอินทรีย์เป็นพื้นที่แปลงใหญ่ มีศูนย์การเรียนรู้อินทรีย์ที่ใกล้ชิดเกษตรกร พร้อมทั้งส่งเสริมปัจจัยการผลิตที่มีประโยชน์ อาทิ ปอเทือง ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ PGPR 3 และเครื่องจักรกลในการกำจัดวัชพืช การเก็บเกี่ยว มีการนำสถาบันการศึกษามาช่วยพัฒนาการเก็บข้อมูลให้เกษตรกร นำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลแบบ BIG DATA ต่อไป รวมทั้งสนับสนุนบุคลากรในการร่วมตรวจประเมินเพื่อรับรองเป็นเอกสารยืนยันว่าเกษตรกรมีการงดใช้สารเคมีอย่างน้อย 3 ปี เพื่อนำเกษตรกรเข้าระบบมาตรฐานสากลได้ต่อไป เป็นต้น และจากการสรุปข้อมูลของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเฉลี่ยมีผลผลิต 4.5 ตันต่อไร่ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 8,000 บาทต่อไร่ เป็น 15,000 บาทต่อไร่ เกษตรกรมันอินทรีย์จึงมีรายได้สูงขึ้น และผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการปรับเปลี่ยนเป็นมันสำปะหลังอินทรีย์อย่างเป็นรูปธรรม

    หลักของการตลาดนำการผลิตนับเป็นเป้าหมายเพื่อกำหนดต้นแบบและยุทธศาสตร์ในการเพิ่มพูนข้อมูลความรู้ทิศทางการตลาดการค้าสินค้าเกษตรที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันต่อสถานการณ์ เป็นปัจจัยที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการวางแผนการผลิตในแต่ละฤดูกาล เพื่อให้การลงทุนในปัจจัยการผลิตเกิดผลลัพธ์ที่คุ้มค่า ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ปรับหลักคิดเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer พร้อมก้าวเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 และเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืน และพอเพียง หากเกษตรกรชาวไร่มันท่านใดสนใจปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรวิถีอินทรีย์สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณพีรวัส คำกระจาย ผู้จัดการส่วนงานจัดซื้อวัตถุดิบและลานมันออร์แกนิค บริษัท อุบลเกษตรพลังงาน จำกัด ติดต่อ 081 301 8338 / 081 658 8274