กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล เดินหน้าพัฒนาพลังงานทดแทน เซ็น MOU ร่วมกับ ST1 บริษัทพัฒนาพลังงานจากประเทศฟินแลนด์ ดันโครงการนำร่องผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลัง

กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล เดินหน้าพัฒนาพลังงานทดแทน เซ็น MOU ร่วมกับ ST1 บริษัทพัฒนาพลังงานจากประเทศฟินแลนด์ ดันโครงการนำร่องผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลัง

เมื่อวันอังคารที่ 24 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล สำนักงานกรุงเทพฯ นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัท ST1 บริษัทพลังงานจากประเทศฟินแลนด์ เพื่อพัฒนาโครงการนำร่องการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลัง ในพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจมีผู้บริหารระดับสูงจากทั้งสองบริษัทร่วมเป็นสักขีพยาน กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอลประกอบด้วย นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ รองประธานกรรมการ นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่ นางสาวบุณณดา คูหากาญจน์ รองผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบัญชีและการเงิน และนายวุฒิพงศ์ นิลผาย ผู้จัดการโรงงานเอทานอล และบริษัท ST1 ประกอบด้วย Mr.Patrick Pitkänen Sales Director Mr.Vesa Turpeinen Sales Manager Mr.Antti Aromaki Representative Thailand และ Ms. Katarina Tapio เลขานุการเอกและรองหัวหน้าคณะทูต สถานทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ซึ่งภายหลังจากพิธีลงนามนายเดชพนต์ได้กล่าวว่า การร่วมมือของทั้งสองบริษัทครั้งนี้จะพลิกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับมันสำปะหลัง เพิ่มมูลค่าให้กับของเหลือจากกระบวนการผลิตอย่างกากมันสำปะหลังให้มากขึ้น

“การร่วมมือครั้งนี้จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง อย่างที่เราพยายามทำมาตลอดคือการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์พลอยได้ของมันสำปะหลังอย่างกากมันสำปะหลัง เราวางแผนที่จะขยายองค์ความรู้เรื่องการผลิตเอทานอลจากผลิตภัณฑ์พลอยได้เหล่านี้ ไปสู่โรงแป้งอื่นๆ ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลังนี้จะช่วยใน 2 เรื่องสำคัญ คือ 1.เพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลัง และ 2.ช่วยในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมจากการนำของเหลือใช้วนกลับมาใช้ประโยชน์อีก” นายเดชพนต์กล่าว

ทางด้าน Mr.Patrick Pitkänen ได้กล่าวว่า ST1 ได้พยายามหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อผลักดันโครงการนำร่องนี้ให้เป็นรูปเป็นร่าง โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมท้องถิ่นที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับมันสำปะหลังอยู่แล้ว

“เราเริ่มทำการศึกษาโครงการนำร่องร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับมันสำปะหลังอยู่แล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถผลิตเอทานอลได้จริงตามสภาพแวดล้อม และผลกระทบต่างๆ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล สำหรับในเรื่องของการออกแบบโรงงานเอทานอลและขนาดของโรงงาน เป็นโอกาสดีที่ทั้งสองบริษัทจะร่วมมือกันในการดำเนินโครงการนำร่องนี้ร่วมกันให้สำเร็จ ระหว่างนี้ทีมวิศกรออกแบบของ ST1 ได้เริ่มทำงานเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่จะใช้ในโครงการนำร่องนี้ และคาดว่าภายในปี 2017 โครงการจะสามารถเริ่มดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ” Mr.Patrick Pitkänen กล่าวทิ้งท้าย